ตัวเคลื่อนไหว

JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW JIGSAW

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เทพโพเซดอน Poseidon


เทพโพเซดอน Poseidon


...เทพโพเซดอนได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าสมุทรหรือท้องทะเล โดยคำว่า "สมุทร"หรือ "ทะเล" ในภาษากรีกโบราณนั้นหมายเอาทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนเป็นสำคัญ เนื่องจากชาวกรีกในสมัยโน้น มีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน เป็นส่วนมาก เทพแห่งทะเลจึงมีความสำคัญกับชาวกรีกเป็นธรรมดา
ในกาลก่อนครั้งที่เหล่าเทพไทแทนยังมีอำนาจอยู่นั้น ห้วงมหรรณพทั้งหลายต่างอยู่ในความปกครองของ โอเชียนัส (Oceanus) ครั้นเมื่อเหล่าเทพไทแทนพ่ายแพ้แก่ ซูส แลัว ซูสก็ได้แบ่งการปกครอง ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนโดยเด็ดขาด ส่วนโอเชียนัสถูกลด อำนาจให้ได้ครองเพียงห้วงน้ำใหญ่ที่ไหลวนรอบโลก ซึ่งถื่อว่าไม่มีความสำคัญอะไรเลยสำหรับชาวกรีกสมัยนั้น นอกจากนี้ ทะเลยูซินีซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ทะเลดำ ก็อยู่ในความปกครองของโปเซดอนเช่นกัน
อำนาจของเทพโพเซดอน ส่วนใหญ่คือสามารถควบคุมพายุและความสงบในท้องทะเลได้โดยเด็ดขาด ยามเมื่อ ทรงรถทองคำเหนือน่านน้ำ คลื่นลมทะเลสงบเงียบเรียบลื่นไปตามล้อรถของเธอโดยตลอด (ในบางตำนานกล่าวว่า เวลาที่ เสด็จขึ้นจากประสาทใค้ทะเล ทะเลจะแหวกออกเป็นช่อง มีเสียงดังสนั่นลั่นโครมครืนนำมาก่อน แล้วราชรถทรงทองคำ เทียมด้วยม้าฝีเท้าเยี่ยมตัวใหญ่มหึมาก็ค่อย ๆ โผล่ขึ้นจากช่องน้ำแยกอย่างสง่างาม) เธอมีอาวุธที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ประจำตัวเลยก็คือ "ตรีศูล" เมื่อใดที่ต้องการ"เขย่า"โลก ก็เพียงแต่กวัดแกว่งตรีศูลเท่านั้น ทะเลก็ปั่นป่วนเป็นบ้า เป็นเหตุให้โลกสั่นสะเทือนด้วยเหตุนี้เธอจึงได้รับสมญานามว่า "ผู้เขย่าโลก" ( Earthshaker ) ด้วย นั่นเอง
ถ้าจะกล่าวถึงอำนาจของโพเซดอนซึ่งปกครองดูแลน่านน้ำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ทะเลลึก ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำธาร ละหานห้วย หรือแม้แต่เทพและนางอัปสรประจำน่านน้ำทั้งปวง ยังมีประสาทงดงามตระการตาอยู่ใต้ท้องทะเล เอเยี่ยน นอกจากที่ประทับสวรรค์ชั้นโอลิมปัสแล้ว ดังจะเห็นว่านอกจากซูสเทพบดีแล้ว ไม่มีเทพองค์ใดที่มีอำนาจเกรียง ไกรไปกว่าท้าวเธอเลยที่เห็นก็มีเพียง ฮาเดส เทพครองนรก จ้าวแดนบาดาล ซึ่งทำให้ท้าวเธอถึงกับเคยคิดครองความ เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวโดยร่วมมือกับเทวีฮีร่าและเทวีเอเธน่าพยายามโค่นเทพปริณายกซูสแต่ไม่สำเร็จ จึงถูกซูสลง ทัณฑ์เนรเทศโพเซดอนให้มาทำงานตรากตรำลำบากบนโลกมนุษย์ในเมืองทรอยโดยต้องสร้างกำแพงกรุงทรอยให้ท้าว เลือมมิดอน (Laomedon) กษัตริย์ในขณะนั้น
ท้าวเลือมมิดอนได้สัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนอย่างงดงามหลังจากที่ได้สร้างกำแพงเสร็จ ถึงแม้ว่างานดังกล่าว เป็นงานที่ยาก แต่หากด้วยในระหว่างนั้นเทพ อพอลโล (Apollo) ซึ่งถูกเนรเทศลงมาจากสวรรค์เช่นกัน แต่โดย สาเหตุต่างกัน อาสาช่วยโพเซดอนสร้างกำแพงอีกแรงด้วย โดยดีดพิณให้หินเคลื่อนไปตามอำนาจของกระแสเสียงอันไพเราะ ทำให้ทุ่นแรงไปมาก งานจึงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยและรวดเร็ว แต่ทว่าท้าวเลือมมิดอนเป็นกษัตริย์ละโมบและคิดโกง กลับบิดพลิ้วสัญญา ทำให้โพเซดอนคิด พยาบาท จึงเนรมิตสัตว์ร้ายดังอสุรกายขึ้นจากทะเล เที่ยวไล่กินผู้คนชาวเมืองไปเป็น จำนวนมาก ชาวเมืองจึงตัดสินใจนำสาวพรหมจารีรูปงามพลีให้แก่สัตว์ร้าย โดยผูกไว้กับ โขดหินริมทะเล ตามคำแนะนำของ เจ้าพิธีผู้เข้าทรงในเมือง ปรากฏว่า สัตว์ร้ายดังกล่าวเมื่อกินหญิงสาวแล้วลงทะเลหายไป แต่มันหายไปเพียงปีเดียว ทำให้ชาวเมืองต้องทำ การพลีหญิงสาวทุกๆปี

ปีแล้วปีเล่า สัตว์ร้ายเฝ้าแต่เวียนมาตามกำหนดคำรบปีและทุกๆปีที่มันขึ้นมาก็จำต้องอุทิศสาวพรหมจารีพลีให้เสมอ จน ในที่สุดชาวเมืองก็เห็นชอบพร้อมกันเลือกลูกสาวท้าวเลือมมิดอนเองชื่อว่า ฮีไซโอนี (Hesione) เพื่อพลีให้กับสัตว์ร้าย ฝ่ายท้าวเลือมมิดอนเองแม้จะไม่อยาก แต่ก็ขัดขวางชาวเมืองไม่ได้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยลูกสาวของตน สุดท้ายจึงได้ แต่ป่าวประกาศหาชายห้าวหาญที่สามารถฆ่าสัตว์ร้ายได้ โดยสัญญาว่าจะประทานรางวัลให้อย่างงดงาม
ในขณะนั้นเอง เฮอร์คิวลิส (Hercules) ผ่านมาได้ยินข่าว จึงอาสาฆ่าสัตว์ร้ายและช่วยนางฮีไซโอนีได้พอดี เมื่องานสำเร็จท้าวเลือมมิดอนยังไม่ทิ้งนิสัย เดิม กลับเพิกเฉยต่อสัญญาที่ไห้ไว้กับเฮอร์คิวลิส เป็นเหตุให้เฮอร์คิวลิสผูกใจเจ็บ แต่เนื่องด้วยเฮอร์คิวลิสยังมีธุระอื่นที่ต้องทำ ครั้นเสร็จธุระดังกล่าวเฮอร์คิวลิสก็ได้รวบรวม สมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งยกเข้าล้อมกรุงทรอยและตีหักเข้าในเมืองได้ จากนั้นก็ได้จับท้าวเธอฆ่าเสีย ส่วนนางฮีไซโอนีนั้นได้ยกให้ เทลมอน (Telamon) สหายที่ ร่วมกันตีเมืองทรอยครั้งนี้

คำมั่นสัญญาที่ท้างเลือมมิดอนประทานแก่เฮอร์คิวลิสนั้นคือ ถ้าเฮอร์คิวลิสฆ่าสัตว์ร้ายสำเร็จ จะประทานม้างาม ๆ ฝีเท้าดีให้จำนวนหนึ่งตามที่เฮอร์คิวลิสประสงค์ ซึ่ง เมื่อเฮอร์คิวลิสทวงรางวัล พระเชษฐาของนางฮีไซโอนีชื่อ โพดาร์ซีส (Podarces) ได้ทูลแนะนำให้ท้าวเธอให้ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสตีเมืองทรอยแตก จึงไม่ได้ประหารโพดาร์ซึส เพียงแค่จับไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งต่อมาชาวกรุงทรอยก็ได้ไถ่ถอนเอากลับคืนไปสถาปนาเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า เพรียม (Priam) ต่อไป
ส่วนสัญญาที่ท้าวเลือมมิดอนละเมิดกับเทพโปเซดอนคือคำบนว่าจะถวายลูกโคกระบือท้องแรกทั้งหมดเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ณ แท่นบูชา ซึ่งการที่ท้าว เลือมมิดอนไม่แก้บนตามสัญญา ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายดังกล่าวยังเป็นเหตุทำให้ศึกครั้งสำคัญกรุงทรอยกับกรีก โปเซดอนดำรงในฐานะอริกับกรุงทรอยนั่นเอง
เทพโปเซดอนมีมเหสีนามว่า อัมฟิตริตี (Amphitrite) เป็นธิดาของเทพแห่งธารเนเรอุส ในตอนแรก ที่เทพโปเซดอนขอวิวาห์กับนางนั้น อัมฟิตริตีไม่ยินดีด้วย นางหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่อื่น ท้าวเธอจึงใช้ให้ปลาโลมาไปค้น หา จนกระทั่งพบและนำมาถวายพระองค์ อัมฟิตริตีจึงได้เป็นจอมเทวีแห่งมหาสมุทรเคียงคู่สวามี มีโอรสด้วยกันคือ ไทรตัน
โปเซดอนออกจะโชคดีกว่าซูสเทพบดีตรงที่มีมเหสีสงบเสงี่ยมมากกว่า เทวีอัมฟิตริตีปล่อยให้สวามีเจ้าชู้กับ สาวเจ้าอื่นได้โดยไม่หึงหวง ยกเว้นรายเดียวเท่านั้นคือรายของนาง ซิลลา (Seylla) ซึ่งเคยเป็นนางไม้สวยงามมาก ท้าวเธอหลงหัวปักหัวปำจนอัมฟิตริตีเทวีทนไม่ได้ จึงแอบลอบนำยาพิษไปโรยในสระน้ำที่นางซิลลาลงอาบประจำ ทำให้ นางกลายร่างจากสาวงามเป็นนางอสูรร้ายที่น่าสะพรึงกลัวไปทันที นับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่อัมฟิตริตีเทวี กระทำรุนแรงกับชายาของสวามี
หากกล่าวถึงเรื่องราวเจ้าชู้ของเทพองค์นี้แล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับม้า
องค์หนึ่งคือ ดีมิเตอร์ (Demeter) โพสพเทวีผู้เป็นพระน้องนางของท้าวเธอเอง แต่เจ้าแม่ไม่ยินดีด้วย ทรงจำแลงเป็นนางม้าเพื่อหนีจากเงื้อมหัตถ์ แต่เทพโปเซดอนไม่ยอมลดละ จำแลงองค์เป็นม้าเพศผู้ไปสมสู่ด้วยจนเกิด โอรสรูปร่างพิกลออกมานามว่า อารีออน (Arion) ผู้มีขาหน้าหลังด้านขวาเป็นเท้ามนุษย์พูดภาษาคนได้ แต่มี ร่างกายเป็นม้า
ในรูปร่างของม้าอีกเช่นกันที่เทพจ้าวสมุทรแอบไปพิสมัยกับนางอัปสรบริวารของเทวี เอเธน่า นางนั้นคือ เมดูซ่า (Medusa) ในตำนานตอนนี้กล่าวไว้ว่า นางเป็นนางอัปสรที่สวยงามยิ่ง แต่เพราะไปหลงใหลใฝ่ฝันเทพโปเซดอนเข้า เทวีเอเธน่าจึงพิโรธโกรธเกรียว สาปให้นางมีผมเป็นงูไปทันที และทำให้นางน่าขวัญหนีดีฝ่อจน ผู้ใดเห็นเข้าจะกลายร่างเป็นหินแข็งชาไปหมด แต่เพราะการได้ร่วมอภิรมย์กับโปเซดอนในรูปร่างของม้า เมื่อวีรบุรุษเปอร์ซีอุสตัดศีรษะนางขาดออกนั้น เลือดที่กระเซ็นออก มากลายเป็นม้าวิเศษ 2 ตัว ตัวหนึ่งคือ คริสซาออร์ (Chrysaor) และอีกตัวคือ เปกัสซัส (Pegasus) นั่นเอง

เทพอพอลโล Apollo


อพอลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น

ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ

เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้
อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย
วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว

เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี
เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที
ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้

การลงโทษนางไนโอบี

เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7

นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น
เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่าสัตว์ จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก
มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้

นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้
นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์

อพอลโลถูกเนรเทศ

เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ
ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius)

บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง
ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง
ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต
เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ

ตำนานของกล่องแพนโดรา


ตำนานของกล่องแพนโดรา (Pandora box) นั้นเป็นตำนานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับตำนานการสร้างโลกของกรีกโบราณ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยที่โลกเพิ่งถือกำเนิดมาใหม่ๆ นั้น สิ่งมีชีวิตทุกอย่างยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเทพเอรอส (Eros) เห็นว่าควรมอบสิ่งที่เรียกว่าสัญชาติญาณและลักษณะเฉพาะพิเศษให้แก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเพื่อยังชีพและอยู่อย่างมีความสุข จากนั้นเทพเอรอสก็เรียกตัว โพรมิเทียส (Prometheus) กับ เอพิเทียส (Epitheus) สองพี่น้องมาช่วยงานในโครงการมอบจิตสำนึกและคุณลักษณะเฉพาะให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และวางแผนจะสร้างสิ่งมีชีวิตที่พิเศษที่สุดนั่นก็คือ “มนุษย์” ขึ้นมา เพื่อควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ


โพรมิเทียสและเอพิเทียสได้เตรียมการทุกอย่างไว้อย่างพร้อมสรรพ แต่ด้วยความสะเพร่าทั้งสองพี่น้องเผลอมอบสิ่งดีๆ ที่เตรียมเอาไว้ให้แก่สัตว์อื่นๆ จนหมด โดยไม่หลงเหลือให้กับมนุษย์ ดังนั้นโพรมิเทียสและเอพิเทียสจึงปั้นมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียวเพื่อเป็นการแก้ปัญหา โดยใช้ลักษณะของเทพเจ้าเป็นแบบ จากนั้นเทพเอรอสก็ได้ประทานลมหายใจแห่งการมีชีวิตให้กับมนุษย์ไว้ที่จมูก เทพมิเนอร์วา หรือ พัลลาส์ (Minerva - Pallas หรืออีกชื่อที่รู้จักกันดีคือ เอเธน่า Athena) ได้ประทานสิ่งที่เรียกว่าดวงวิญญาณ มนุษย์จึงสามารถเคลื่อนไหวและมีชีวิตได้


โพรมิเทียสรู้สึกภูมิใจในผลงานชิ้นนี้มาก เขาคอยเฝ้าติดตามดูผลงานชิ้นนี้จนกระทั่งเขาได้มอบพลังอันยิ่งใหญ่บางส่วนของเขาให้แก่มนุษย์โดยไม่สนใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก การกระทำนี้ทำให้มนุษย์มีอายุขัยมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ


เท่านั้นยังไม่พอโพรมิเทียสยังคิดที่จะมอบไฟให้แก่มนุษย์อีกด้วย แต่ไฟเป็นสมบัติแห่งเทพ มนุษย์ไม่มีสิทธ์ได้ไว้ในครอบครอง และตัวโพรมีเทียสเองก็รู้ว่าเทพทั้งหลายก็คงจะไม่ยินยอมมอบไฟให้แก่มนุษย์เป็นแน่ เขาจึงตัดสินใจขโมยไฟลงจากสวรรค์เพื่อนำไปมอบให้กับมนุษย์ ซึ่งตัวโพรมิเทียสเองก็ใคร่ครวญแล้วว่าการกระทำเช่นนี้คงจะสร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าทวยเทพอย่างแน่นอนและนั่นยังอาจหมายถึงชีวิตของเขาอีกด้วย แต่เขาก็ยังดึงดันจะทำ โดยในคืนหนึ่ง โพรมีเทียสก็ได้เริ่มแผนการที่วางเอาไว้ เขาแอบขึ้นไปที่เขาโอลิมปัสแล้วลอบเข้าไปในที่พักอาศัยของเหล่าเทพ จากนั้นก็ฉวยเอาคบเพลิงซ่อนเอาไว้ในอกเสื้อ แล้วก็ลอบลงมาที่โลกมนุษย์แล้วก็มอบไฟที่ขโมยมาให้กับมนุษย์ที่เขาสร้างขึ้นเองกับมือ ซึ่งไฟนั้นต่อมาก็สร้างคุณประโยชน์มากมายให้แก่มนุษย์


ต่อมาเมื่อเทพซุส หรือ ซีอุส (Zeus) ผู้เป็นประธานใหญ่ของเหล่าทวยเทพสังเกตเห็นแสงไฟที่ไม่ควรจะมีในโลกมนุษย์จากบัลลังก์บนยอดเขาโอลิมปัสก็ให้นึกสงสัย จึงเร่งสืบให้รู้ถึงที่มาของแสงไฟนั้น แล้วก็พบว่าเป็นไฟที่ถูกขโมยลงไปจากสวรรค์ ก็ทำให้พิโรธอย่างหนัก แม้แต่เทพองค์อื่นๆ ก็พากันหวาดกลัวไปด้วย เทพซุสตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องจับตัวโพรมิเทียสมาลงโทษให้สาสม โดยโพรมิเทียสถูกเทพซุสจับตัวไปทรมานที่แถบเทือกเขาคอเคเซียน (Caucasian) จากนั้นก็ล่ามตัวโพรมิเทียสที่โขดหินสูงแห่งหนึ่ง แล้วให้อดข้าวอดน้ำ แถมด้วยการใช้ให้นกแร้งมาคอยฉีกทึ้งตับของโพรมีเทียสให้ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส พอตกค่ำเมื่อนกแร้งหลับแล้ว แผลของโพรมิเทียสก็จะบรรเทาจากอาการเจ็บปวด และรุ่งเช้าของวันใหม่จึงเริ่มต้นการทรมานอันแสนทารุณไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้โดยไม่มีวันจบสิ้น แม้มนุษย์จะตายไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ยังคงสรรเสริญคุณความดีของโพรมิเทียสตลอดมา จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ เฮอร์คิวลีส ผู้ซึ่งเป็นบุตรของเทพซุสก็ผ่านมาที่เกาะนี้และช่วยปลดปล่อยให้โพรมิเทียสเป็นอิสระในเวลาต่อมา


ซึ่งถ้าใครเคยอ่านหนังสือตำนานกรีก-โรมัน ฉบับสมบูรณ์ของคุณมาลัยแล้วจะพบว่าตำนานที่ la plume นำมาเล่าสู่กันฟังนั้นจะมีความแตกต่างกันตรงที่สาเหตุที่ทำให้มหาเทพซุสโกรธนั้นก็เป็นเพราะว่ามนุษย์มีความเหิมเกริมและท้าทายต่ออำนาจของเทพมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเทพและมนุษย์ในเรื่องการเซ่นสังเวยต่อเทพเจ้า โดยโพมิเทียสเลือกที่จะเข้าข้างมนุษย์โดยทำกลอุบายลวงตาของมหาเทพซะ โดยแบ่งวัวเครื่องเส้นออกเป็น 2 ส่วน เอาส่วนที่กินได้คือเนื้อและเครื่องในซ่อนไว้ในห่อหนังแล้วก็เอาพังผืดเส้นเอ็นคลุมทับเอาไว้ ส่วนอีกส่วนหนึ่งเอากระดูกมากองรวมกันแล้วก็คลุมทับด้วยส่วนที่คล้ายมันเพื่อให้สวยงาม แล้วมหาเทพก็เลือกส่วนที่ดูสวยงาม แต่พอทรงเปิดออกมาพบกองกระดูกก็พิโรธหนักจึงได้ริบเอาไฟของมนุษย์ไป ซึ่งต่อมาภายหลังโพรมิเทียสก็ลักลอบนำไฟลงไปให้มนุษย์อีก จึงทำให้มหาเทพยิ่งเดือดสุดๆ และจับโพรมิเทียสมาทรมานอย่างที่กล่าวไปแล้ว


ด้านเทพซุสแม้จะได้กระทำการลงโทษโพรมิเซียสแล้วก็ยังไม่พอใจ ความโกรธแค้นที่มีต่อมนุษย์ยังครุกรุ่นอยู่ มหาเทพจึงเรียกประชุมสภาเทพเพื่อสร้างมนุษย์ผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมาหวังจะแก้เผ็ดพวกมนุษย์ มนุษย์สาวที่บรรดาเทพช่วยกันสร้างขึ้นนั้นมีลักษณะที่งดงามตรึงตาตรึงใจ เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อันเย้ายวนของหญิงสาว อีกทั้งยังมีเสียงที่หวานไพเราะจับใจ และตั้งชื่อให้เธอว่า “แพนโดรา” (Pandora) ที่แปลว่าของขวัญจากทวยเทพ จากนั้นก็ส่งให้เทพเมอร์คิวรี่นำเธอไปส่งให้โพรมิเทียสโดยบอกว่าเป็นของกำนัลจากเทพทั้งหลาย ซึ่งโพรมิเทียสก็พอจะเดาอะไรๆ ได้ จึงปฏิเสธที่จะรับของขวัญพิเศษชิ้นนี้ไว้ และยังกำชับเตือนเอพิเทียสผู้น้องให้อย่ารับแพนโดราอีกด้วย แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเอพิเทียสเกิดรักแรกพบทันทีที่ได้เห็นแพนโดรา และไม่เชื่อว่าสาวงามขนาดนี้จะนำความไม่ดีมาสู่ตนได้ จึงรับแพนโดราไว้เป็นภรรยาของตน


ซึ่งในตอนที่แพนโดราลงมาจากสวรรค์นั้นมหาเทพก็ประทานกล่องที่สวยงามวิจิตรมาใบหนึ่งโดยทรงกำชับเธอว่าห้ามเปิดดูโดยเด็ดขาด โดยเทพีเฮรา (Hera-เป็นมเหสีเอก หรือ ภรรยาหลวงของเทพซุสนั่นเอง) ก็ได้แอบแกล้งมากระซิบถามแพนโดราให้เธอนึกสงสัยซะอย่างนั้น วันเวลาผ่านไปแพนโดราก็ยังไม่คลายจากความสงสัยในกล่องใบนั้นและพยายามรบเร้าให้เอพิเทียสเปิดกล่องซึ่งแน่นอนว่าเอพิเทียสไม่เห็นด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งเอมิเทียสไม่อยู่บ้านเธอจึงจ้องมองที่กล่องใบนั้นด้วยความกระสับกระส่าย ในใจว้าวุ่นด้วยความลังเลว่าจะเปิดกล่องดีไม่เปิดกล่องดี แต่แล้วความสงสัยก็เป็นฝ่ายชนะเมื่อมือของเธอเริ่มปลดสลักที่กล่องออก แม้ในใจจะเต็มไปด้วยความลังเล จนกระทั่งสลักชิ้นสุดท้ายได้เลื่อนออกจากกล่อง ฝาก็เปิดออกพร้อมลมและควันสีดำก็โพยพุ่งออกมาจากกล่อง ด้วยความแรงของระเบิดทำให้เธอลงไปนอนกองอยู่บนพื้น แล้วควันเหล่านั้นก็ทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้ม อุณหภูมิเริ่มเย็นยะเยือกขึ้นมาทันที ซึ่งสิ่งที่หลุดออกมาจากกล่องนั้นก็คือความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยาก ความผิดหวัง ความชั่วร้ายและปีศาจต่างๆ นั่นเอง เมื่อเอพิเทียสกลับมาถึงบ้านก็พบว่าแพนโดรากำลังนั่งร้องไห้คร่ำครวญอยู่หน้ากล่องหายนะใบนั้นก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวทันที แต่เขาก็เหลือบไปเห็นสิ่งสุดท้ายที่ถูกเก็บไว้ในกล่อง มันมีลักษณะเหมือนภูตที่มีลักษณะสว่าง ซึ่งเรียกว่า “ความหวัง” (Hope) ได้อ้อนวอนขอให้แพนโดราช่วยปลดปล่อยให้มันเป็นอิสระ แต่เธอก็ปฏิเสธเนื่องจากเธอไม่อยากจะทำผิดซ้ำสอง แต่ “ความหวัง” ก็ยังอ้อนวอนขอให้ปล่อยเธอออกมาจนได้ ซึ่งเจ้าความหวังนี้ก็คือความเวทนาที่เทพมีต่อมนุษย์โดยเหลือทิ้งไว้ให้ก้นกล่องใบนั้นนั่นเอง


แต่บางตำนานก็เล่าว่ากล่องแห่งความหายนะนั่นแพนโดราไม่ใช่คนถือลงมา แต่เป็นเทพแห่งการสื่อสาร เมอร์คิวรี่แกล้งทำทีแบกกล่องใบใหญ่มาฝากไว้ที่บ้านของเอพิเทียส โดยกำชับว่าห้ามเปิดดูโดยเด็ดขาด ฝ่ายแพนโดราเมื่อเห็นกล่องก็อยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างในจึงอ้อนวอนให้เอพิเทียสช่วยเปิดกล่องออกดูของข้างใน แต่เขาก็ปฏิเสธ จนกระทั่งวันหนึ่งเอพิเทียสออกไปพบเพื่อนทิ้งให้แพนโดราอยู่บ้านคนเดียว จึงเป็นโอกาสของแพนโดราที่จะได้ทำสิ่งที่อยากจะทำ เธอเข้ามาใกล้กล่องใบนั้นและสังเกตว่าตัวกล่องทำจากไม้เนื้อสีดำ ฝามีการแกะสลักอย่างประณีต รอบๆ กล่องประดับด้วยขดด้ายสีทองที่ส่องประกายเรืองรอง เมื่อความอยากรู้มันมีมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เธอจึงแอบเปิดกล่องออกดู ซึ่งในระหว่างที่เธอกำลังทำการปลดล็อคเธอก็รู้สึกเหมือนได้ยินเสียงกระซิบอะไรบางอย่างออกมาจากกล่อง เสียงนั้นเรียกร้องขอความเป็นอิสระ ซึ่งทำให้เธอลังเลว่าเธอควรจะเปิดออกดูดีมั้ย แต่สุดท้ายแพนโดราก็แพ้ใจตัวเอง เมื่อฝากล่องถูกเปิดออก โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ ความเศร้า สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ก็ตรงเข้าเล่นงานมนุษย์ มีฝูงแมลงที่มีปีกสีน้ำตาลคล้ายฝูงผีเสื้อราตรีตรงเข้าโจมตีแพนโดราและเอพิเทียสที่เพิ่งกลับมาถึงบ้าน จากนั้นพวกแมลงก็บินหนีออกไปทางประตูและหน้าต่าง


เอพิเทียสกับแพนโดราไม่เคยเจอกับความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน ทั้งเจ็บปวด โกรธเกรี้ยวและสิ้นหวัง มันทำให้ทั้งเอพิเทียสและแพนโดราต่างคร่ำครวญร้องไห้เป็นครั้งแรกในชีวิต เอพิเทียสรู้สึกโกรธเคืองในความโง่เขลาของภรรยาของตนมาก แต่ในขณะนั้นเองก็มีเสียงดังออกมาจากกล่องเจ้ากรรม เสียงนั้นขอให้ช่วยปลดปล่อยมันออกไปโดยมันสัญญาว่าจะรักษาแผลตามตัวคนทั้งสองให้โดยแลกกับความเป็นอิสระของมัน แพนโดราจึงตัดสินใจเปิดกล่องนี้ออกมาอีกครั้งหนึ่งและก็ได้พบกับสิ่งที่เหลืออยู่ก้นกล่อง นั่นก็คือ “ความหวัง” จากนั้นความหวังก็รักษาแผลให้แพนโดราและเอพิเทียส แล้วก็รีบบินออกไปเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายพร้อมทั้งช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

เอคโค่กับนาร์ซิสซัส


















เอคโค่กับนาร์ซิสซัส

Echo & Narcissus

เอคโค่คือนางไม้แสนงามแห่งภูเขาเฮลิออนผู้เป็นบุตรีของเกอา แต่นางเป็นคนที่ช่างพูดในประเภทที่ว่าหากเลี้ยงนกแก้วนกขุนทองเอาไว้ มันจะต้องกัดลิ้นตายแน่

แม้ผู้อื่นจะรำคาญที่นางพูดมากเช่นนี้ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งมีประชุมเหล่านางไม้และนางพราย ซึ่งเทวีเฮร่า(ในภาษาโรมันเรียกจูโน)เจ้าแม่แห่งสรวงสวรรค์เป็นประธาน เป็นไปตามที่ทุกคนคาด นางไม้เอคโค่เล่นจ้อเสียคนเดียวโดยไม่เว้นช่องไฟให้ใครได้พูดเลย แม้กระทั่งตัวเฮร่าเองก็หาจังหวะจะแทรกไม่ได้ ทำให้เฮร่าทั้งโกรธทั้งรำคาญความเป็นนกแก้วนกขุนทองยังอายของนาง เทพีแห่งสรวงสวรรค์จึงร่ายคำสาปใส่เอคโค่ ให้นางพูดสิ่งใดไม่ได้นอกจากคอยพูดตามคำสุดท้ายของประโยคที่ผู้อื่นพูด

เอคโค่อับอายมากที่ต้องคอยพูดเพียงคำท้ายประโยคของผู้อื่น และถูกล้อเลียนจนไม่เข้าประชุมหรือสมาคมกับใครอีกเลย ซึ่งบรรดานางไม้นางพรายทั้งหลายก็สุดแสนจะดีใจไม่เป็นทุกข์ร้อนที่นางหายหน้าไป (ยังรำคาญอยู่เหมือนกัน ที่มีเอคโค่มาคอยพูดตามท้ายประโยคทุกคำ)

กล่าวถึงชายหนุ่มรูปงามผู้หนึ่งนามว่านาร์ซิสซัสบุตรแห่งเซฟิซุสกับเลียริโอปี เป็นผู้ชอบท่องไปตามป่าเขาลำเนาไพร นาร์ซิสซัสถือเป็นชายหนุ่มที่งามที่สุดในยุคนั้นทีเดียว ทำให้มีหญิงสาวมาหลงรักมากมายจนแทบไม่เป็นอันกินอันนอน เขาจึงตัดสินใจมาอยู่ในป่าเพื่อตัดความรำคาญ แต่ไม่วายมีเหล่านางไม้นางพรายมาหลงใหลได้ปลื้มอีก โดยเฉพาะเอคโค่นั้นหลงรักนาร์ซิสซัสจนตามติดทุกฝีก้าวแบบไปไหนไปกัน นาร์ซิสซัสออกปากไล่ก็ยังไม่ยอมไป ซ้ำยังทำหน้าใสซื่อทวนคำท้ายประโยคของเขาอีก ทำให้ชายหนุ่มปลงๆขี้เกียจตอแยด้วย และปล่อยให้นางไม้ผู้นี้ติดตามต่อไปตามใจนาง

นาร์ซิสซัสไม่เพียงแต่ไม่ใยดีบรรดาหญิงสาวนางไม้นางพรายที่หลงรักเขา ซ้ำยังดูแคลนความรักของพวกนางอีกด้วย ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระและน่าเบื่อสิ้นดี เรื่องนี้ร้อนถึงเทวีอะโฟรไดที (วีนัสในโรมัน) เทพีแห่งความรัก นางเห็นว่าการที่หนุ่มรูปงามเช่นนาร์ซิสซัสไม่มีความรักนั้นเป็นความผิดอย่างร้ายแรงอยู่แล้ว (ในความคิดของนางเอง) และยังมาดูแคลนความรักอีก รวมกันแล้วเป็นความผิดอย่างอภัยให้ไม่ได้ จึงสาปให้นาร์ซิสซัสหลงรักเงาตนเอง

ฝ่ายนาร์ซิสซัสรูปงามนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าตัวเองโดนอะโฟรไดทีสาปเข้าเต็มๆ เมื่อเดินทางมาถึงลำธารใสสะอาดก็ก้มลงหวังจะวักน้ำล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น แต่พลันสายตาของเขาก็ไปสบกับดวงตาของชายหนุ่มที่รูปงามที่สุดเท่าที่เขาจะจินตนาการได้ นาร์ซิสซัสยิ้มให้ชายหนุ่มซึ่งเขาก็ยิ้มตอบมาด้วยรอยยิ้มละไมเช่นกัน ความรักนั้นก็บังเกิดขึ้นเต็มใจของนาร์ซิสซัส เขายื่นแขนออกไปหมายจะโอบกอดชายรูปงามเบื้องหน้า แต่ทว่าเมื่อมือของเขาสัมผัสกับผิวน้ำ ภาพชายหนุ่มก็หายไปและกลับคืนมาเมื่อน้ำเรียบสงบดังเดิม

ผลจากคำสาปทำให้นาร์ซิสซัสเฝ้ามองชายในน้ำโดยไม่รู้ว่าเป็นเงาของตน เขาไม่ยอมกินยอมนอนและคอยจะโอบกอดชายรูปงามที่เขาแสนรักอีก แต่ผลก็เป็นเหมือนเดิม

จนในที่สุด หนุ่มรูปงามผู้นี้ก็สิ้นใจลงข้างลำธารนั่นเอง ร่างของเขากลายเป็นดอกไม้ที่งดงามริมน้ำ ราวกับว่าคอยชะโงกดูเงาของตน และเพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อชายหนุ่มผู้งดงาม จึงเรียกดอกไม้นี้ว่า นาร์ซิสซัส (Narcissus , ดอกจะมีขนาดใหญ่ ลำต้นแข็งตั้งตรง ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่าจุ๊ยเซียนและต่อมาก็เกิดคำเรียกผู้ที่หลงใหลตนเอง บูชาตนเองว่าNacissism)

ส่วนนางไม้เอคโค่นั้น เสียใจเป็นอย่างยิ่งในการจากไปของนาร์ซิสซัส และไม่มีใครเห็นนางอีกเลย มีเพียงเสียงของนางที่คอยก้องสะท้อนคำสุดท้ายของผู้คนตามป่าเขาและถ้ำเท่านั้นที่บ่งบอกว่านางยังคงอยู่ เป็นที่มาของศัพท์คำว่า echo ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า เสียงก้อง เสียงสะท้อน

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Frederic Chopin คีตกวีคนสำคัญของยุคโรแมนติก


โชแปงเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1810 ที่ประเทศโปแลนด์ ท่านเริ่มแสดงอัจฉริยะภาพทางดนตรีตั้งตั้งแต่เยาว์วัยโดยเฉพาะเปียโน และเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นท่านได้เข้าศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยการดนตรีกรุงวอร์ซอ (Warsaw Conservatory) ที่บ้านเกิด เมื่อสำเร็จการศึกษาฝีมือและชื่อเสียงของท่านได้แพร่หลายไปทั่วประเทศแล้วในฐานะนักเปียโนฝีมือเยี่ยม และนักประพันธ์ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ

โชแปงก็เช่นเดียวกับศิลปินอีกหลายคนในยุคโรแมนติค ที่มีความรู้สึกรุนแรงในประเทศชาติอันเป็นที่รักของตน ในสมัยนั้นประเทศใหญ่ในยุโรปหลายประเทศพยายามรุกรานเพื่อแผ่ขยายอาณาเขตไปยังประเทศเล็กที่อ่อนแอกว่า เช่น จักรวรรดิรัสเซียได้รุกรานและครองอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศโปแลนด์ ยังความปวดร้าวสู่จิตใจประชาชนในประเทศเล็กๆ เป็นอย่างยิ่ง ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นปัญญาชนของประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น ต่างก็จับกลุ่มดำเนินการกู้ชาติอย่างลับๆ โชแปงก็เป็นปัญญาชนหนึ่งในนั้นที่เข้าร่วมขบวนการใต้ดินต่อต้านจักรวรรดิรัสเซียเพื่อกอบกู้ชาติให้เป็นเอกราช ทำให้โชแปงตกเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทางการรัสเซียหมายหัวเอาไว้ จนกระทั่งต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสเมื่ออายุประมาณ 21 ปี ที่ฝรั่งเศสโชแปงได้พบปะและเป็นเพื่อนกับศิลปินชั้นนำในวงการหลายคน ซึ่งเป็นผู้ชักชวนและเบิกทางให้โชแปงเข้าสู่วงการดนตรีเช่นฟรานซ์ ลิสต์ (Franz List : 1811-1886) นักเปียโนเอกชาวฮังกาเรียนผู้มีฝีมืออัศจรรย์ไม่ด้อยไปกว่ากัน ลิสต์ได้รู้จักนับถือและสนิทสนมกับโชแปง และเป็นบุคคลสำคัญที่ชักนำโชแปงเข้าสู่วงการศิลปะและวงสังคมชั้นสูงของปารีส

ต่อมาท่านได้รู้จักกับนักเขียนสตรีชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมยุโรป เธอเป็นสตรีจากสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศส เป็นเศรษฐีนีม่ายลูกติด และเป็นสตรีที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็งรุนแรงเช่นศิลปินยุคโรแมนติคทั้งหลาย เธอมีอิทธิพลอย่างสูงต่อโชแปง เพราะโชแปงนั้นอ่อนแอทั้งร่างกายและอ่อนไหวทางอารมณ์ อย่างไรก็ตามด้วยแรงบันดาลใจจากสตรีผู้นี้ทำให้โชแปงประพันธ์บทเพลงสำหรับเปียโนที่อ่อนหวาน ไพเราะงดงามเข้มข้นและลึกซึ้งออกมามากมาย เธอเป็นที่รู้จักกันดีด้วยนามแฝงที่ใช้ในการประพันธ์ว่าจอร์จ ซองด์ (George Sand 1804-1876) ช่วงบั้นปลายชีวิตโชแปงได้เลิกรากับซองด์ สุขภาพของโชแปงเองก็เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งฐานะทางการเงินก็ไม่ดีนัก และหลังจากใช้ชีวิตเป็นอิสระออกเล่นคอนเสิร์ตและแต่งเพลงขายสำนักพิมพ์อยู่ไม่นาน โชแปงก็ถึงแก่กรรมที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1849 รวมอายุได้เพียง 39 ปี ทิ้งความทรงจำในฐานะนักเปียโนเอกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก และบทเพลงที่ไพเราะมากมายนับร้อย ๆ บทไว้เป็นมรดกแก่โลกดนตรีตราบจนทุกวันนี้ โชแปงได้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับความรู้สึกชาตินิยมไว้หลายบทเช่น Polonaise in A - Flat Major op. 53 เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่และสดุดีความกล้าหาญ เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อปกป้องมาตุภูมิ

ว่ากันว่าสมัยที่ Arthur Rubinstienนักเปียโนเอกของยุคที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้บรรเลงบทเพลงที่โชแปงได้ประพันธ์ไว้ ผู้ฟังทั้งหลายต่างพากันกล่าวขวัญอย่างชื่นชมจนรู้สึกว่าน่าจะใกล้เคียงกับฝีมือของโชแปง แต่ไม่เคยมีใครสงสัยว่าโชแปงจะเล่นได้ดีเท่ารูบินสไตน์หรือเปล่า เพราะฝีมือของโชแปงได้กลายเป็นตำนานของวงการดนตรีไปแล้ว จนมีคนกล่าวว่าฝีมือของโชแปงน่าจะใกล้เคียงพระเจ้ามากที่สุด

บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven)


ประวัติความเป็นมา

ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) อยู่ด้วย ความยิ่งใหญ่ของเขาไม่ได้ปรากฏอยู่ที่ผลงานการประพันธ์เพลงเท่านั้น แต่ประวัติชีวิตของคนที่ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตาของเขานั้นยิ่งใหญ่และเป็นที่เล่าขานไม่แพ้ผลงานเพลงอันเป็นอมตะเลยทีเดียว

เหมือนกับคีตกวีที่ยิ่งใหญ่หลายคนที่มีเบื้องหลังชีวิตที่ขมขื่น บีโธเฟน เกิดที่กรุงบอนน์ (อดีตเมืองหลวงประเทศเยอรมนีตะวันตก) เมื่อปลายปี ค..1770 เป็นบุตรของนักร้องประจำราชสำนักแห่งกรุงบอนน์ นามว่า โยฮานน์ (Johann) มารดานาม Maria Magdalena ชีวิตในวัยเด็กของบีโธเฟน นั้นแสนขมขื่น ท่ามกลางความอัตคัด ขัดสนของครอบครัว พ่อนักร้องขี้เมา พยายามปั้นบีโธเฟนให้เป็น "โมสาร์ท สอง" โดยหวังจะให้ทำเงินหาเลี้ยงครอบครัว (บีโธเฟนเกิดหลังโมสาร์ท 15 ปี) พ่อสอนดนตรีบีโธเฟนน้อยวัย 4-5 ขวบ ด้วยการบังคับให้ฝึกหัดบทเรียนเปียโนที่ยาก ซึ่งถ้าเล่นไม่ได้ก็ทำโทษ เป็นที่คาดเดาในภายหลังว่า ที่บีโธเฟนยังรักดนตรีอยู่ได้ก็เพราะภาพลักษณ์ของคุณปู่ซึ่งเป็นนักร้องประจำราชสำนักที่ประสบความสำเร็จ

โยฮานน์พยายามโปรโมตบีโธเฟนน้อย (อายุ 8 ขวบ) ให้เป็นเด็กนักเปียโนมหัศจรรย์อายุ 6 ขวบ แต่ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจนัก พอแผนการไม่ประสบผล โยฮานน์จึงเปลี่ยนจุดหมายให้บีโธเฟนเป็นนักดนตรีอาชีพให้เร็วที่สุด โดยจัดหาคนมาสอนดนตรีเพิ่มเติม อายุ ได้ 11 ขวบได้เข้าทำงานเป็นนักออร์แกน ผู้ช่วยประจำราชสำนัก อัจฉริยภาพของ บีโธเฟนน้อยได้ฉายแววให้เห็น ขณะที่บีโธเฟนทำงานเป็นนักดนตรีประจำราชสำนัก ก็ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนดนตรีไปจนมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง ขณะเดียวกันก็พยายามศึกษาหาความรู้และพัฒนาความคิดอ่าน จากพื้นฐานความรู้เพียง ป.4 (Grade 4) ที่ได้เรียนมา เพื่อให้สามารถเข้าสังคมกับปัญญาชนและผู้มีอันจะกิน และเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต พออายุได้ 17 ปี ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และ เพื่อนผู้มีอันจะกิน ให้มีโอกาสไปเยือนกรุงเวียนนาเป็นครั้งแรก มีคำบอกเล่าว่า บีโธเฟนได้แสดงฝีมือด้านเปียโนสดให้โมสาร์ทฟัง จนโมสาร์ทบอกกับคนรอบข้างให้จับตาดูคนนี้ไว้ และว่า วันหนึ่งเขา จะสร้างผลงานให้คนทั้งโลกกล่าวถึง บีโธเฟนอยู่ที่เวียนนาได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ต้องรีบเดินทางกลับกรุงบอนน์เพราะได้รับข่าวว่าแม่ป่วยหนัก หลังจากที่แม่สิ้นชีวิตลง เขาต้องทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งมีทั้งพ่อและน้องอีก 2 คน

ปี ค..1792 ระหว่างทางที่โยเซฟ ไฮเดน (Joseph Haydn) ปรมาจารย์ทางดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค เดินทางกลับจากอังกฤษ ได้แวะเยี่ยมเยียนราชสำนักกรุงบอนน์ เป็นโอกาสที่บีโธเฟน ได้เข้าพบ และโชว์ผลงานการประพันธ์ดนตรี ไฮเดนทึ่งในความสามารถและเห็นแววอัจฉริยะของบีโธเฟน ได้เสนอให้ไปเรียนดนตรีที่กรุงเวียนนากับเขา ซึ่งแผนการนี้ก็เป็นจริงจากการสนับสนุนของหลายฝ่ายเมื่อปลายปี

สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์และศิษย์ต่างวัยเป็นไปได้ไม่ดีนัก ด้วยศิษย์เป็นหนุ่มไฟแรงอารมณ์ร้อน หยิ่ง และดื้อรั้น ตัวบีโธเฟนเองก็ไม่พอใจการสอนของไฮเดน แต่ก็ยังเกรงใจอาจารย์ผู้อาวุโส เขาจึงแอบย่องไปเรียนกับนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคน โดยระหว่างนั้น บีโธเฟนเองก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักเปียโนที่มีความสามารถด้านเปียโนสดได้เก่งที่สุดแห่งยุค ต่อจากโมสาร์ท ซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ชื่อเสียงและความสามารถในการเล่นเปียโนของ บีโธเฟน ทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น แต่ เขายังไม่ได้แสดงผลงานเพลงออกสู่สาธารณะ เพราะอยู่ระหว่างฝึกวิทยาศิลป์ หลังจากจบการศึกษาดนตรีกับอาจารย์ ไฮเดนและอื่นๆ ในปี 1795 เขาได้แสดงผลงานเพลงและเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์ดนตรีอย่างเต็มตัว ผลงานเพลงยุคแรกของบีโธเฟน จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับดนตรีของไฮเดน และโมสาร์ท แต่ก็ยังแฝงความเป็นบีโธเฟนอยู่ด้วย และได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอย่างรวดเร็ว

ผลงานช่วงนี้ของบีโธเฟนที่น่าสนใจ ได้แก่ เปียโนทรีโอ 1 เปียโนโซนาตา 2 เปียโนโซนาตา 7 เปียโนโซนาตา 13 (Pathetique) เป็นต้น

บีโธเฟนเป็นคนที่มีความทะเยอ ทะยานสูง หยิ่ง เจ้าอารมณ์ และรักเสรี ภาพเป็นชีวิตจิตใจ สาเหตุอาจมาจากความเก็บกดจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก และบีโธเฟนมีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับนโปเลียน เชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวของนโปเลียนเป็นอย่างมาก เขามีแนวความคิดเป็นนักปฏิวัติทั้งในด้านดนตรีและความคิดทางสังคม เขามักได้รับการตำหนิจากปรมาจารย์อาวุโส ว่า แต่งเพลงแหกกฎเกณฑ์ทางดนตรีและออกนอกรีตนอกรอย บีโธเฟนไม่ฟังคำตำหนิเหล่านั้น ยังคงพัฒนาดนตรีไปตามแนวทางของตนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีความใฝ่ฝันจะสร้างผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์พึงสร้างได้ สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่คือการสอดแทรก ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตนลงในดนตรี ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดวิสัยในยุคนั้น (ที่เรียกว่า Classical period) ดนตรีขั้นสูงคือรูปแบบทางศิลปที่สมบูรณ์ สูงส่ง และอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่นั้นกลับเป็นการพลิกโฉมหน้าของโลกศิลปการดนตรี และทำให้นักวิชาการด้านดนตรี ต้องตั้งชื่อยุคของดนตรีขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า ยุคโรแมนติก (Romantic Period)

การปฏิบัติตัวในสังคม บีโธเฟน ปฏิเสธการเป็นนักดนตรีในฐานะคนรับใช้ ของผู้มีอันจะกิน ทุกครั้งที่เขารับจ้างไปแสดงดนตรีในสถานที่ส่วนตัว เขาจะต้องได้รับการปฏิบัติดังเช่นแขกผู้ได้รับเชิญ ได้ร่วมโต๊ะอาหารกับเจ้าบ้าน ค่าจ้าง คือ สิ่งตอบแทนด้วยมิตรภาพ เขาจะแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างไม่เกรงใจ ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสม

บีโธเฟนประสบความสำเร็จในด้านการงานได้ไม่นาน เคราะห์กรรมก็กลับมาเยี่ยมเยือน เขาได้รับของขวัญส่งท้ายศตวรรษเก่าเข้าสู่ศตวรรษใหม่เป็นอาการหูหนวก เป็นเคราะห์กรรมที่น่าเกลียดยิ่ง สำหรับนักดนตรีที่กำลังฉายแววความยิ่งใหญ่

หลังจากที่บีโธเฟนตระหนักว่า อาการหูหนวกของเขาไม่สามารถจะรักษาได้และมีอาการรุนแรงจนถึงหนวกสนิท วันที่ 6 ตุลาคม ปี ค..1802 เขาได้เขียนจดหมายกึ่งลาตายกึ่งพินัยกรรม ถึงน้องชายทั้งสองของเขา แต่อีก 4 วันต่อมาก็เขียนอีกฉบับมีใจความล้มเลิกความคิด บีโธเฟนค่อยๆ รักษาแผลในใจ ที่เกิดจากเคราะห์กรรมที่ได้เผชิญ จนจิตใจเขาแข็งแกร่งกว่าที่เคย ดนตรีของเขาในช่วงนั้นจึงแสดงถึงเรื่องราวของฮีโร่ ความรู้สึกต่อชัยชนะ ธรรมชนะอธรรม และความยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริงของเขาที่แต่งเพลงสู้กับหูหนวก และยังได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมฝากไว้ให้ชาวโลกสมความตั้งใจ

ผลงานที่น่าสนใจในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 3 (Eroica) ซึ่งเดิม บีโธเฟนคิดจะอุทิศให้นโปเลียน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนใจ เพราะผิดหวังที่นโปเลียนมีความทะเยอทะยานเกินขอบเขต ซิมโฟนีหมายเลข5 ยอดนิยมตลอดกาล ซิมโฟนีหมายเลข 6 (Pastorale) ไวโอลิน คอนแซร์โต ในบันไดเสียง ดีเมเจอร์ และเปียโนคอนแซร์โต หมายเลข 5 (Emperor) เป็นต้น

แม้บีโธเฟนจะประสบความสำเร็จ ด้านดนตรีอย่างสูงสุด แต่ในเรื่องความรักเขานั้นห่างไกลนัก อกหักซ้ำซากเป็นเรื่องปกติ ด้วยความไม่คงเส้นคงวาเรื่องอารมณ์ เอาใจยาก และเข้าใจยาก ทำให้ สาวๆ ไม่กล้าเข้ามาใช้ชีวิตร่วมด้วย ถึงแม้ชีวิตจริงดูจะห่างจากความรักที่เป็นรูปธรรม แต่เขากลับได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งดนตรีโรแมนติก ท่านสามารถพิสูจน์ได้ ด้วยการฟังเพลง Piano Sonata หมายเลข 14 27 No.2 ("Moonlight") ท่อนช้า (Adagio Sostenuto) และเพลงเปียโนยอดนิยมตลอดกาล Fur Elise เป็นต้น

ช่วงบั้นปลายของชีวิต พร้อมกับอาการหูหนวกสนิท เขากลายเป็นคนแก่อารมณ์ร้าย มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับ คนรอบข้างรวมทั้งน้องชายของเขาเอง ช่วงเวลานี้เขาผลิตผลงานออกมาไม่มากแต่ถือเป็นผลงานที่สำคัญยิ่ง เป็นดนตรีที่พัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของความเป็นบีโธเฟนเต็มไปด้วยพลังความยิ่งใหญ่ ความซับซ้อนที่ยากจะหยั่งถึง เป็นดนตรี ที่ดังกระหึ่มอยู่ในตัวตนโดยปราศจากเสียงรบกวนใดๆ จากภายนอก ดนตรีใน ช่วงสุดท้ายของบีโธเฟน ที่สำคัญก็ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ("Choral Symphony") เพลงสรรเสริญพระเจ้า Solemn Mass in D และ String Quartet หมายเลขท้ายๆ (127, 130-133, 135) เป็นต้น

ปิดฉากชีวิตคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ในวันที่ 26 มีนาคม ค..1827 ที่กรุงเวียนนาด้วยโรคตับ ซึ่งป่วยยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง พิธีศพที่จัดขึ้นให้แก่เขานั้นยิ่งใหญ่ มีผู้คนร่วมงานนับหมื่นคน แม้ร่างกายเขาได้จากโลกนี้ไปแล้วกว่า 170 ปี แต่ผู้คนบนโลกในยุคสมัยต่อมาก็ยังคงเคารพ และยกย่องมิรู้ลืม เขายังคงเป็นสัญลักษณ์คีตกวีของโลกตลอดกาล และผลงานเพลงอันไพเราะที่เขาได้สรรค์สร้างไว้ก็ยังคงอยู่คู่โลกไปอีกนานเท่านาน ลุดวิก แวน บีโธเฟน

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Robbie Williams


ชื่อจริง โรเบิร์ต พีเตอร์ แมกซ์มิลเลียน วิลเลียมส์
วันเกิด 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517
แหล่งกำเนิด สโต๊ค-ออน-เทร็นท์ ประเทศอังกฤ
แนวเพลง ป๊อบ , ป๊อบร็อค , แด๊นซ์
อาชีพ นักร้ีอง
ปี ค.ศ. 1990 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลง chrysalis , EMI


ประวัติ

ร็อบบี้ เกิดในครอบครัวคาทอลิกใน นิวคาสเซิล-อันเดอร์-ไลม์ (Newcastle-under-Lyme) โตใน สโต๊ค-ออน-เทร็นท์ ประเทศอังกฤษ (Stoke-On-Trent) เมื่อร็อบบี้มีอายุ 3 ปี บิดามารดาของเขาได้หย่าร้างกัน และเขาจึงอยู่กับมารดาและพี่สาว (ต่างบิดา) ของเขา ร็อบบี้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายที่ชื่อว่า “ เซ็นท มาร์การ์เร็ท วอร์ด (St. Margaret Ward) แต่สอบไม่ผ่าน จึงออกมาทำงานเป็นพนักงานขาย

จากนั้นร็อบบี้ได้เข้าสมัครคัดเลือกและเข้าเป็นสมาชิกในวง “ เทค แดท” (Take That) ในขณะมีอายุ 16 ปี เทค แดทเป็นวงบอยแบนด์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีเพลงอันดับ 1 ถึง 10 เพลง (7 เพลงขณะร็อบบี้อยู่ในวง) แต่ในภายหลัง ร็อบบี้ก็ออกจากวงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538

ร็อบบี้ วิลเลียมส์ ออกซิงเกิ้ลแรก Freedom เพลงเก่าของ จอร์จ ไมเคิล โดยในอัลบั้มแรกของเขาที่ชื่อว่า “ ไลฟ ธรู อะ เลนซ” (Life Thru A Lens) กับค่ายคริสสะลิส เร็คคอร์ดส (Chrysalis Records) ตามมาด้วยเพลง "Old Before I Die" (#2) , "Lazy Days" (#8) และ "South Of The Border" (#14) จนกระทั่งซิงเกิ้ลที่ชื่อว่า Angels ได้ปล่อยออกมาในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เป็นการเน้นความดังของร็อบบี้ เพลงนี้อยู่ในชาร์ทนานกว่า 27 สัปดาห์ และขายได้ถึง 868,000 แผ่น

อัลบั้มที่สองเขาในปี พ.ศ. 2541 ที่ชื่อว่า I've Been Expecting You เปิดตัวด้วยเพลง Millennium เป็นเพลงอันดับ 1 เพลงแรกในอังกฤษของร็อบบี้ และซิงเกิ้ลฮิตหลายเพลง เช่น เพลง Strong และเพลง No Regrets

The Ego Has Landed เป็นอัลบั้มที่ออกวางขายเฉพาะในอเมริกา เป็นการรวมเพลงจาก "Life Thru A Lens" และ "I've Been Expecting You" เข้าด้วยกัน

พ.ศ. 2543 อัลบั้มที่ชื่อว่า "Sing When You're Winning" ปล่อยเพลงฮิตRock DJ ที่ขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษ ต่อด้วยเพลง "Kids" ร้องคู่กับ ไคลี มิโนค(#2) , "Supreme" (#4) , "Let Love Be Your Energy" (#10) และ "Eternity / The Road To Mandalay" (#1) อัลบั้มขายได้ 2,182,000 แผ่น

อัลบั้มถัดมา "Swing When You're Winning" เป็นอัลบั้มคัฟเวอร์เพลงแนว Pop-standard มีเพลงอันดับ 1 อย่าง "Somethin' Stupid} โดยร้องร่วมกับนิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) นักแสดงชาวออสเตรเลียน

ในปี พ.ศ. 2545 ร็อบบี้ ได้เซ็นสัญญาฉบับใหม่กับอี เอ็ม ไอ (EMI) ซึงมีมูลค่าประมาณหกพันล้านบาท เขาได้หยุดทำงานร่วมกับคู่หูซึ่งแต่งเพลงให้แก่เขามาเป็นระยะเวลานานที่ชื่อ “ กาย เชมเบอร์ซ” (Guy Chambers) อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่งในหกเดือนต่อมา เพื่อทำงานเพลงร่วมกันในอัลบั้มถัดมาที่ชื่อว่า "Escapology" ซึ่งออกมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ซิงเกิ้ลแรกในอัลบั้มนี้ซึ่งก็คือ เพลง "Feel"

ในปี พ.ศ. 2546 ร็อบบี้ได้เล่นคอนเสิร์ต ที่ Knebworth ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 3 คืน โดยมีจำนวนผู้ชมรวมทั้งสิ้น มากกว่า 375,500 คน ซึ้งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในการแสดง คอนเสิร์ต ในปี 2003 นอกจากการแสดงสดแล้ว ยังมีอัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่ใช้ชื่อว่า "Live at Knebworth" และ DVD บันทึกการแสดงสดที่ใช้ชื่อว่า "What We Did Last Summer"

ในปี พ.ศ. 2547 ได้ออกอัลบั้มรวมเพลง "Greatest Hits" มีเพลงอย่าง "Radio" ที่ทำงานร่วมกับ “ สตีเฟ่น ดัฟฟี่” ( Stephen Duffy) ซิงเกิ้ลอีกเพลงหนึ่งที่ชื่อว่า "Misunderstood" ได้กลายเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ บริดเจ็ท โจนซ ไดอารี่ ตอน ดิ เอ็น ออฟ รีซืน” (Bridget Jones Diary : The Edge of Reason)

ตุลาคม พ.ศ. 2548 ได้ออกอัลบั้มที่ 9 "Intensive Care" อัลบั้มขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษขายได้มากกว่า 7 ล้านชุดทั่วโลก ปล่อยซิงเกิ้ลแรก "Tripping" ขึ้นสูงสุดอันดับ 2 ต่อด้วย "Advertising Space" และ "Sin Sin Sin" ซิงเกิ้ลถัดมา "Rudebox" จากอัลบั้มที่ 10 ขึ้นชาร์ทซิงเกิ้ลอันดับ 4 อัลบั้มนี้ ร่วมงานกับ Pet Shop Boys ,William Orbit ผู้ฝากฝีมือโปรดิวซ์ไว้ให้กับมาดอนน่า ไปจนกระทั่ง Soul Mekanik (โซล เมคานิค) ผู้ร่วมแต่งเพลง ‘Rock DJ’ และไอคอนของวงการดิสโกเฮาส์อย่าง Joey Negro (โจอี้ นีโกร) และ Mark Ronson (มาร์ก รอนสัน)

ผู้ติดตาม